โครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ปลูกฝังอุดมการณ์ ความรัก

ครูโอ๊ะ ฟังเสียงกลุ่มเด็ก กศน.ภาคกลาง พร้อมชื่นชมทุกข้อเสนอเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษาพื้นฐาน-การมีงานทำ-การเรียนรู้ตลอดชีวิต แก่คนทุกช่วงวัย

นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น “การประชาพิจารณ์ : ความคาดหวังที่มีต่อรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการในการพัฒนาการศึกษา กศน.” ในโครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ปลูกฝังอุดมการณ์ ความรักชาติ ความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ของผู้เรียน กศน. กลุ่มจังหวัดภาคกลาง กว่า 250 คน เมื่อวันพุธที่ 26 สิงหาคม 2563 ณ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตสุพรรณบุรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จังหวัดสุพรรณบุรี

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวแสดงความชื่นชมนักศึกษา กศน.ในกลุ่มจังหวัดภาคกลาง ที่กล้าแสดงออก และนำเสนอข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการจัดการศึกษาในเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งต้องบอกว่า รัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการ ตลอดจนผู้บริหาร กศน.ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลาง ทั้ง 18 จังหวัด มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะรับฟังความคิดเห็นและความคาดหวังต่อการจัดการศึกษาของ กศน. เพื่อที่จะได้วางแนวทางส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษาให้ครอบคลุมคนทุกช่วงวัย และตรงกับความต้องการของผู้เรียน กศน.ในแต่ละบริบท ไม่ว่าจะเป็น การศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อให้ได้รับวุฒิการศึกษาต่อยอดการเรียนในระดับที่สูงขึ้น การศึกษาต่อเนื่อง เพื่อการมีงานทำ มีอาชีพ และรายได้ ทำให้ตนเองและคนในครอบครัว “กินอิ่ม และนอนอุ่น” และตอบโจทย์การพัฒนาท้องถิ่น ชุมชน และพื้นที่ ตลอดจนการศึกษาตามอัธยาศัย หรือที่นักศึกษา กศน. เรียกว่า “การเรียนแบบตามใจฉัน” ที่จะต้องพัฒนาแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ให้พร้อมบริการอยู่เสมอ มีวัสดุอุปกรณ์ที่เพียงพอ มีบรรยากาศที่ดี รวมทั้งสามารถเข้าถึงประชาชนในทุกชุมชน และที่สำคัญ มีการสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและกลุ่มเป้าหมายได้รับรู้อย่างทั่วถึง เพื่อสร้างโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่คนทุกช่วงวัย ส่งผลต่อความมั่นคงในระดับพื้นที่และความอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืน

จากการรับฟังข้อเสนอและข้อคิดเห็น มีหลายส่วนที่สอดคล้องกับการลงพื้นที่ของครูโอ๊ะ เพื่อไปรับฟังปัญหาและความต้องการใน 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย โดยได้ผลักดันการดำเนินงานให้มีความก้าวหน้า และแก้ไขปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การสำรวจความต้องการของอุปกรณ์ สื่อเทคโนโลยี หนังสือ สัญญาณอินเทอร์เน็ต ให้เพียงพอกับความต้องการ ทันยุคทันสมัย และใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ, การเตรียมผลักดันงบประมาณสำหรับจัดหารถเคลื่อนที่สร้างการอ่านในชุมชน โดยระบุไว้ในแผนการดำเนินงาน ปีงบประมาณ 2565 ตลอดจนหลักสูตรการเรียนของ กศน. ที่เน้นการเรียนพื้นฐานเพื่อการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น ภายใต้ความร่วมมือและแบ่งปันสื่อที่ทันสมัย ตลอดจนทรัพยากรการเรียนรู้ จากเครือข่ายโรงเรียนเอกชน และท้ายสุดในเรื่องของการเรียนอาชีพ เพื่อการมีงานทำ มีรายได้ ทั้งยังจัดโครงการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ OOCC ของ กศน.ระดับภาคใต้ เป็นภูมิภาคแรก พร้อมยกระดับผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการจัดหลักสูตรอาชีพของ กศน.ทั่วประเทศ สร้างแบรนด์ “ONIE” ให้เป็นที่รู้จัก และเร็ว ๆ นี้ จะจัดโครงการ 108 อาชีพ เพื่อแนะนำหลักสูตรอาชีพร่วมกับกระทรวงแรงงาน เมื่ออบรมแล้วมีงานทำ พร้อมหาแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำ และช่องทางการขายอย่างครบวงจร

โดยมีสรุปความคิดเห็นและความต้องการ การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ของ กศน.ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลาง ดังนี้

การศึกษาขั้นพื้นฐาน : ขอให้เน้นการจัดหาคอมพิวเตอร์ สื่อ อุปกรณ์การเรียนที่ทันสมัยอย่างเพียงพอ และมีประสิทธิภาพ, ครูผู้สอนมีทักษะที่หลากหลาย, ปรับหมวดหมู่และจัดกลุ่มรายวิชาให้น้อยลง, จัดการเรียนแบบพบกลุ่ม วันละ 3 ชม. และเน้นการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง ตลอดจนปรับการสอบ N-Net ให้เหมาะสมกับหลักสูตร พร้อมลดกิจกรรม กพช.ให้เหลือ 100 ชม. และจัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียนนอกสถานที่ ภาคเรียนละ 1 ครั้ง

การศึกษาต่อเนื่อง : จัดหลักสูตรที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน มีวิทยากรที่มีความรู้ทันสมัย มีความเชี่ยวชาญมาช่วยสอน แนะนำการต่อยอดสู่การประกอบอาชีพจริง การเพิ่มมูลค้าสินค้าและผลิตภัณฑ์ ตลอดจนมีช่องทางจัดจำหน่ายทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ พร้อมทั้งจัดหลักสูตรออนไลน์ สำหรับผู้ที่ไม่สะดวกมาพบกลุ่ม หรือจัดการเรียนออนไลน์ผสมผสานการพบกลุ่มเพื่อความต่อเนื่อง และลดระยะเวลาการอบรมให้มีความกระชับ แต่ได้ใจความและเนื้อหาสาระ

การศึกษาตามอัธยาศัย : บ้านหนังสือชุมชน ควรมีการปรับปรุงสัญญาณอินเทอร์เน็ต วัสดุอุปกรณ์ คอมพิวเตอร์ อย่างเพียงพอและทันสมัย มีสื่อ หนังสือที่หลากหลาย จัดระบบหมุนเวียนหนังสือและแบ่งปันความรู้ในแต่ละชุมชน จัดรถหนังสือเคลื่อนที่ให้บริการอย่างทั่วถึง ส่วนห้องสมุดประชาชน ควรสร้างบรรยากาศและจัดสิ่งอำนวยความสะดวกต่อการเข้าใช้บริการ บรรณารักษ์มีจิตบริการ ยิ้มแย้มแจ่มใส จัดเก็บหนังสือและแบ่งหมวดหมู่ ตลอดจนดูแลรักษาสื่อ หนังสือ ให้พร้อมใช้งาน

นอกจากนี้ ในส่วนของศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ควรมีการประสัมพันธ์เชิญชวนประชาชนมาใช้บริการ เพิ่มสื่อที่ทันสมัย จัดชุดทดลองวิทยาศาสตร์เพื่อให้ผู้เข้าชมได้มีโอกาสทำเอง อาทิ ทดสอบสารปนเปื้อนในอาหาร น้ำ อากาศ ตลอดจนเครื่องสำอาง เป็นต้น ทั้งนี้ ขอให้พิจารณาเพิ่มเครื่องแบบหรือสัญลักษณ์ของนักศึกษา กศน.ตำบล เพื่อสร้างการยอมรับและการมีตัวตน และเพิ่มวัสดุอุปกรณ์ในการเรียน อาทิ คอมพิวเตอร์ ปริ้นเตอร์ อินเทอร์เน็ต พร้อมเสนอให้มีการจัดหลักสูตรเข้มข้นสำหรับผู้ต้องการวุฒิการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา และให้มีการปรับปรุงเว็บไซต์ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารของ กศน.ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น

นายจิรเมธ คฤหบดี

,l

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *