ส่งเสริมการอ่านออนไลน์ เกร็ดความรู้  เรื่อง น้ำหล่อสมองไขสันหลัง #ของเหลวที่ช่วยดูแลและปกป้องสมอง

📚ส่งเสริมการอ่านออนไลน์📚

📌เกร็ดความรู้ 👩‍🏫

📣เรื่อง น้ำหล่อสมองไขสันหลัง
#ของเหลวที่ช่วยดูแลและปกป้องสมอง

ถ้าพร้อมแล้วไปอ่านกันเลยค่ะ

น้ำหล่อสมองไขสันหลัง
#ของเหลวที่ช่วยดูแลและปกป้องสมอง
(เรียบเรียง โดย มิติ เจียรพันธ์ุ)

การใช้ชีวิตของเราเป็นผลมาจากการทำงานสอดประสานของอวัยวะหลายอย่าง โดยมีศูนย์บัญชาการอยู่ที่สมอง

ดวงตาต้องรับแสงแล้วส่งสัญญาณไปแปลผลและทำความเข้าใจที่สมอง
นิ้วที่เลื่อนเมาส์หรือหน้าจอโทรศัพท์ไปด้วย ถูกสั่งการมาจากสมอง
นอกจากนี้ สมองช่วยควบคุมการหายใจ การเต้นของหัวใจ
และการทำงานในระบบต่างๆ ของร่างกายให้เป็นปกติด้วย

แม้สมองเป็นอวัยวะสำคัญ แต่ตัวมันเองกลับอ่อนนุ่มมาก
ร่างกายจึงปกป้องส่วนสำคัญนี้ไว้ในกะโหลกศีรษะอันแข็งแกร่ง

แต่การวางสมองไว้ในกะโหลกเฉยๆไม่ต่างอะไรกับการใส่พุดดิ้งนุ่มๆลงในกล่องพัสดุแข็งๆ ซึ่งถ้ามีการกระทบกระเทือน พุดดิ้งอันบอบบางก้อนนั้นย่อมเกิดความเสียหายอย่างแน่นอน ดังนั้นถ้าในกล่องมีสิ่งที่ช่วยดูดซับแรงกระแทกเหมือนบับเบิลก็จะช่วยป้องกันหรือลดความเสียหายลงได้

นี่เป็นความสำคัญของของเหลวที่เรียกว่า น้ำหล่อสมองไขสันหลัง (Cerebrospinal Fluid หรือ CSF) ซึ่งอยู่ระหว่างสมองและกะโหลกศีรษะของเรา

มนุษย์รู้ว่ามีของเหลวล้อมรอบสมองมาตั้งแต่สมัยฮิปโปเครตีส (Hippocrates) ในยุคกรีกโบราณแล้ว แต่ไม่มีการศึกษาเพิ่มเติมมากนัก จนกระทั่ง Domenico Cotugno แพทย์ชาวอิตาเลียน ทำการศึกษาน้ำหล่อสมองไขสันหลังที่ไหลออกจากศพ

ปัจจุบันเรารู้ว่าหน้าที่ของน้ำหล่อสมองไขสันหลังเป็นของเหลวใส ไม่มีสี ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยลดแรงกระแทกที่เกิดขึ้นกับสมอง แต่ยังเป็นตัวขนส่งสารอาหารไปยังสมอง และขนของเสียออกไปยังเลือดเพื่อกำจัดด้วย

การตรวจน้ำหล่อสมองไขสันหลังสามารถบอกความผิดปกติของร่างกายได้หลายอย่าง เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือเชื้อรา การพบเซลล์เม็ดเลือดในน้ำเลี้ยงสมองบ่งบอกการตกเลือดบริเวณสมอง หรือการพบโปรตีนบางชนิดเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงโรคอัลไซเมอร์ได้

กล่าวได้ว่า สมองนั้น นอกจากจะซับซ้อนและบอบบางแล้ว
ยังเป็นอวัยวะที่ต้องการการดูแลเป็นอย่างดี
ไม่แพ้…หัวใจของเรา

อ้างอิง
– The Biology Book: From the Origin of Life to Epigenetics, 250 Milestones in the History of Biology
– The Medical Book: From Witch Doctors to Robot Surgeons, 250 Milestones in the History of Medicine

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *